นอนกรนกับความเสี่ยงโรคต้อหิน

การนอนกรนเป็นปัญหาที่พบได้ค่อนข้างบ่อย โดยตามสถิติแล้วประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่จะมีอาการนอนกรนบ้างเป็นครั้งคราว แต่ในบางครั้ง การนอนกรนอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องระวัง เพราะอาจจะเป็นอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ คนที่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับ มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลายๆอย่างตามมา เช่น

  1. โรคอ้วน
  2. ความจำเสื่อม
  3. แก่เร็ว
  4. ความดันโลหิตสูง
  5. โรคหัวใจ
  6. โรคหลอดเลือดสมอง
  7. โรคเบาหวาน
  8. เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

นอกจากนั้น คนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ยังมีความเสี่ยงในการเป็นโรคต้อหินเพิ่มมากขึ้นถึง 10 เท่าด้วย สาเหตุนั้นคิดว่าเกิดจากการที่ร่างกายขาดออกซิเจนในระหว่างที่คนไข้หยุดหายใจ ทำให้เนื้อเยื่อเส้นประสาทตาค่อยๆตายไป โดยที่ความดันตาอาจจะไม่ได้สูงขึ้นเหมือนกับคนไข้ต้อหินส่วนใหญ่ แม้ว่าคนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับส่วนใหญ่ จะมีอาการนอนกรนเสียงดัง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่นอนกรน จะต้องหยุดหายใจขณะหลับ เพราะฉะนั้น ถ้าใครที่นอนกรนเสียงดัง และมีอาการอื่นๆร่วมด้วยดังต่อไปนี้ เช่น

  1. สำลัก
  2. หายใจตื้นหรือหายใจขัดขณะนอนหลับ
  3. หยุดหายใจไปชั่วคราว ไม่กี่วินาทีหรือบางรายอาจจะเกิน 1 นาที
  4. นอนดิ้นหรือกระสับกระส่ายมากผิดปกติ
  5. ตื่นมาปวดหัว
  6. ง่วงนอนตอนกลางวัน

ก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษานะคะ แล้วก็อย่าลืมไปให้หมอตาตรวจหาโรคต้อหินด้วยค่ะ

บทความโดย:
หมอแนน (รศ.พญ.มัญชิมา มะกรวัฒนะ)

Share Article: