รักษาต้อหิน

Glaucoma Treatment

ต้อหิน สาเหตุ อาการ และการรักษา

โรคต้อหิน โดย รศ.พญ.มัญชิมา มะกรวัฒนะ

รายการ Young@Heart ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS วันที่ 31 ตุลาคม 2558

ถาม-ตอบเกี่ยวกับโรคต้อหินและการรักษา

โรคต้อหิน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Glaucoma คือกลุ่มโรคที่ทำให้ขั้วของเส้นประสาทตาที่อยู่ภายในลูกตาค่อยๆถูกทำลายไปอย่างถาวร ซึ่งจะส่งผลให้คนไข้ค่อยๆสูญเสียการมองเห็นไปโดยไม่รู้ตัว และทำให้ตาบอดได้ในที่สุด

การที่ขั้วประสาทตาถูกทำลายจากโรคต้อหิน มักจะพบร่วมกับภาวะความดันลูกตาสูง ซึ่งเป็นผลจากความไม่สมดุลย์ของการผลิตและการระบายออกของน้ำในภายลูกตา (aqueous humor} เมื่อมีการผลิตน้ำมากเกินไปหรือระบบระบายน้ำทำงานไม่ปกติ ก็จะทำให้แรงดันน้ำภายในลูกตาสูงขึ้น

โรคต้อหินแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ

  • โรคต้อหินชนิดมุมเปิด
  • โรคต้อหินชนิดมุมปิด

นอกจากนี้ยังมีโรคต้อหินชนิดอื่นๆที่พบได้ไม่บ่อย ได้แก่

  • ต้อหินชนิดที่ความดันลูกตาไม่สูง
  • ต้อหินตั้งแต่กำเนิด

ต้อหินที่เกิดจากโรคหรือจากสาเหตุอื่นๆที่ทำให้ความดันตาสูง และทำลายเส้นประสาทตา เช่น ต้อกระจกที่รุนแรง เบาหวาน การใช้ยาสเตียรอยด์ อุบัติเหตุทางตา ตาอักเสบ

  • Pigmentary glaucoma
  • Pseudoexfoliative glaucoma

โรคต้อหินชนิดมุมเปิด เป็นโรคต้อหินชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด (มากกว่า 90%) เกิดจากระบบการระบายน้ำในลูกตาทำงานได้ไม่ดีเท่าปกติ (คล้ายๆกับท่อระบายน้ำอุดตัน) โรคจะค่อยๆเป็นไปอย่างช้าๆ คนไข้จะไม่มีอาการปวดตา และจะไม่มีการสูญเสียการมองเห็นในระยะแรก แต่ความดันตาที่สูงขึ้นจะค่อยๆทำลายเส้นประสาทตาอย่างช้าๆ และการมองเห็นก็จะค่อยๆหายไปโดยที่คนไข้มักจะไม่รู้ตัว

โรคต้อหินชนิดมุมปิดเกิดในคนที่มีตำแหน่งม่านตา(ส่วนที่เป็นตาดำ)อยู่ใกล้ และในบางจังหวะเคลื่อนมาปิดมุมทางระบายน้ำในลูกตา (คล้ายๆกับการปิดฝาท่อ) ถ้ามุมระบายน้ำลูกตาถูกปิด 100% ความดันตาจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่เราเรียกกันว่า “ต้อหินเฉียบพลัน” ซึ่งถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางตาที่สามารถทำให้ตาบอดได้ โรคต้อหินชนิดมุมปิดสามารถค่อยๆเป็นช้าๆแบบเรื้อรังได้เช่นกัน โดยที่คนไข้ก็มักจะไม่รู้ตัวจนกว่าเป็นมาก หรือเกิดอาการของต้อหินเฉียบพลันขึ้น

ต้อหินชนิดที่ความดันลูกตาไม่สูง (Normal-Tension Glaucoma)
คือโรคต้อหินที่คนไข้มีความดันตาไม่สูงมากนัก แต่มีเส้นประสาทตาถูกทำลาย โดยที่สาเหตุยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

ต้อหินตั้งแต่กำเนิด (Congenital Glaucoma) โรคต้อหินที่เกิดขึ้นฝนเด็ก ซึ่งมักเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของระบบระบายน้ำในลูกตา

คนไข้ที่เป็นต้อหินเฉียบพลันจะมีอาการ

  • ตามัวอย่างรวดเร็ว
  • ตาแดง
  • ปวดตามาก
  • ปวดหัว
  • มีอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • เห็นวงรุ้งหรือวงแสงรอบดวงไฟ

โรคต้อหินเรื้อรังมักจะไม่มีอาการเตือนใดๆ คนที่เป็นก็มักจะไม่รู้ตัว จนกว่าจะเป็นรุนแรงจนสูญเสียการมองเห็นไปมากแล้ว

  1. อายุมากกว่า 40 ปี
  2. มีพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเป็นโรคต้อหิน
  3. มีความดันลูกตาสูง
  4. มีสายตายาวหรือสายตาสั้น
  5. เคยได้รับอุบัติเหตุที่ตา
  6. เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ
  7. ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

เนื่องจากโรคต้อหินมักจะไม่มีอาการเตือนใดๆ การพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาอย่างละเอียดจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้เป็นโรคต้อหิน รวมทั้งโรคตาชนิดอื่นๆด้วย สำหรับคนที่คุณหมอต้อหินตรวจพบว่ามีมุมระบายน้ำลูกตาแคบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นต้อหินแบบเฉียบพลัน คุณหมออาจจะแนะนำให้ยิงเลเซอร์เพื่อเปิดรูระบายที่บริเวณม่านตา เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน

เพื่อตรวจหาโรคต้อหิน คุณหมอจะต้องทำการตรวจคุณหลายอย่าง ได้แก่:

  1. วัดความดันตา
  2. ตรวจลานสายตา
  3. ตรวจวัดความหนาของเนื้อเยื่อเส้นประสาทตา (Optical Coherence Tomography: OCT)
  4. ตรวจดูขั้วประสาทตาและมุมระบายน้ำในลูกตา
  5. วัดความหนาของกระจกตา

การรักษาโรคต้อหินมี 3 วิธี คือ

  1. การใช้ยา
  2. การยิงเลเซอร์
  3. การผ่าตัด
  • ยาหยอดตาที่ใช้รักษาโรคต้อหินเป็นยากลุ่มที่มีฤทธิ์ลดความดันตา
  • ยาบางชนิดทำให้ลดการผลิตน้ำภายในลูกตา บางชนิดทำให้มีการระบายน้ำออกจากลูกตาได้ดีขึ้น

การยิงเลเซอร์รักษาโรคต้อหินมีอยู่ 2 วิธี

1. Trabeculoplasty (Selective Laser Trabeculoplasty หรือ SLT)

เป็นวิธีรักษาโรคต้อหินชนิดมุมเปิด เป็นการใช้เลเซอร์พลังงานต่ำยิงไปกระตุ้นเซลล์ของระบบระบายน้ำในลูกตา เพื่อทำให้ระบบระบายนำ้ในตาทำงานได้ดีขึ้น และความดันตาลดลง ถือว่าเป็นวิธีการรักษาโรคต้อหินที่นุ่มนวล ปลอดภัย และได้ผลดี

SLT เป็นวิธีที่ควรพิจารณาทำ ในกรณีที่คนไข้ไม่สะดวก หรือมีปัญหาจากการใช้ยาหยอดตา

SLT ช่วยให้คนไข้สามารถลดหรือหยุดการใช้ยาหยอดตารักษาต้อหินได้

ถ้าคนไข้ต้อหินได้รับการรักษาด้วยวิธี SLT ตั้งแต่ระยะแรก อาจช่วยให้คนไข้สามารถชะลอความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาหยอดตาออกไปได้ หรือในบางกรณี อาจทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาเลย ผลการรักษาโดย SLT จะอยู่ได้นาน 9-18 เดือน แต่บางครั้งก็อาจอยู่ได้นานหลายๆปี SLT สามารถทำซ้ำได้เรื่อยๆเมื่อมีข้อบ่งชี้

2.Iridotomy (Laser Peripheral Iridotomy หรือ LPI)

เป็นวิธีรักษาโรคต้อหินชนิดมุมปิด คุณหมอจะใช้เลเซอร์ยิงเพื่อให้เกิดรูเล็กๆที่บริเวณม่านตา เพื่อช่วยในการระบายน้ำในลูกตา สำหรับคนที่มีมุมระบายน้ำในตาแคบอยู่แล้ว อาจจะได้ประโยชน์จากการทำ LPI เพื่อช่วยทำให้ความดันตาลดลง ลดความเสี่ยงของการเกิดต้อหินในอนาคต รวมทั้งป้องกันการเกิดต้อหินเฉียบพลัน ที่เกิดจากการอุดตันของระบบระบายน้ำในตาได้ การรักษาโดยการยิงเลเซอร์จะทำที่คลินิกหรือแผนกผู้ป่วยนอก ไม่ต้องเข้าห้องผ่าตัด ไม่เจ็บและใช้เวลาไม่นาน

การรักษาโรคต้อหินโดยการผ่าตัดเพื่อลดความดันตาจะทำเมื่อการรักษาโดยการหยอดยาหรือการใช้เลเซอร์ไม่สามารถทำให้ความดันตาลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยการผ่าตัดจะมีอยู่ 2 วิธี คือ trabeculectomy และ drainage tube insertion

  1. Trabeculectomy เป็นการเจาะระบายน้ำออกจากลูกตามายังบริเวณใต้เยื่อบุตาขาว เพื่อลดความดันตา การผ่าตัดชนิดนี้มักใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ คนไข้ไม่จำเป็นต้องได้รับการดมยาสลบ
  2. Drainage tube insertion เป็นการใส่ท่อระบายเข้าไปในลูกตา เพื่อลดความดันตา การผ่าตัดชนิดนี้คนไข้มักจะต้องได้รับการดมยาสลบ

ความรุนแรงและการดำเนินโรคของต้อหินจะไม่เหมือนกันในคนไข้แต่ละคน คนไข้บางคนอาจจะมีอัตราการแย่ลงของโรคเร็วกว่าคนอื่นๆ ดังนั้นวิธีการรักษาต้อหินที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้แต่ละคนจึงอาจจะแตกต่างกัน ตั้งแต่แค่ติดตามดูอาการเป็นระยะโดยไม่ต้องใช้ยาอะไรเลย ไปจนถึงการผ่าตัด โดยส่วนใหญ่แล้วคนไข้ที่เป็นโรคต้อหินจะสามารถควบคุมความดันตาได้ด้วยการใช้ยาหยอดตาเป็นประจำทุกวัน ในกรณีที่ยังควบคุมความดันตาด้วยยาได้ไม่ดี คนไข้ไม่สะดวก หรือมีปัญหาจากการใช้ยาหยอดตา คุณหมอก็อาจจะพิจารณารักษาด้วยการยิงเลเซอร์ ส่วนการผ่าตัดเพื่อลดความดันตานั้น มักจะทำก็ต่อเมื่อการรักษาโดยการหยอดยาหรือการใช้เลเซอร์ไม่สามารถทำให้ความดันตาลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจได้

แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีการรักษาต้อหินให้หายขาด แต่เราสามารถที่จะหยุดหรือชะลอการดำเนินโรค และรักษาการมองเห็นที่เหลือของผู้ป่วยไ้ว้ ไม่ให้แย่ไปกว่าตอนที่ตรวจพบต้อหินครั้งแรกได้ ผู้ป่วยต้อหินมักจะต้องใช้ยาหยอดตาเพื่อควบคุมความดันตาเป็นประจำไปตลอด การรักษาต้อหินด้วยการยิงเลเซอร์หรือการผ่าตัด อาจจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถลดหรือหยุดการใช้ยาหยอดตาได้

ในปัจจุบัน ยังไม่มีสมุนไพรหรือวิตามินชนิดใด ที่ได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์ว่าสามารถใช้รักษาโรคต้อหินได้

การกดนวดตาไม่ใช่วิธีการรักษาที่ยอมรับว่าเป็นการรักษาแบบมาตรฐาน ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าปลอดภัยหรือใช้ได้ผล ไม่ควรนำมาใช้แทนการรักษาแบบมาตรฐาน ที่มีการพิสูจน์ทางการแพทย์อย่างชัดเจนแล้วว่าเป็นผลดีต่อคนไข้ เช่น การหยอดยา การใช้เลเซอร์ หรือ การผ่าตัด การกดนวดตาเพื่อลดความดันลูกตาชั่วคราว อาจจะมีประโยชน์เฉพาะในคนไข้ต้อหินบางรายเท่านั้น เช่น การกดนวดตาชั่วคราวโดยจักษุแพทย์ เพื่อช่วยลดความดันลูกตาในกรณีหลังผ่าตัดเปิดทางระบายน้ำในลูกตา แต่ก็ต้องใช้ควบคู่ไปกับการใช้ยา หรือวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานวิธีอื่นๆ

ปัจจุบันในประเทศไทยมีจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านต้อหินอยู่ประมาณ 120 คน คุณหมอที่มีความชำนาญด้านโรคต้อหิน จะสามารถให้การวินิจฉัยและติดตามการเปลี่ยนแปลงของโรคได้อย่างแม่นยำ ตัดสินใจเลือกใช้ยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไข้แต่ละคน และสามารถที่จะให้การรักษาโดยวิธีอื่นๆนอกจากการใช้ยาหยอดตาได้ เช่น การยิงเลเซอร์ หรือ การผ่าตัด เมื่อมีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม เพราะวิธีการรักษาต้อหินที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไข้แต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน

การร้กษาโรคต้อหินด้วยการใช้ยาจะมีราคาค่าใช้จ่ายต่อครั้งน้อยที่สุด การรักษาโดยการยิงเลเซอร์จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า แต่อาจจะทำให้คุมความดันตาได้ดีกว่า คนไข้อาจจะสามารถลดหรือหยุดการใช้ยาหยอดตาได้ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา และสามารถที่จะไปพบแพทย์บ่อยน้อยลงได้ ส่วนการผ่าตัดรักษาต้อหิน จะมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด แต่จะทำเฉพาะในกรณีทื่จำเป็น คือไม่สามารถที่จะควบคุมความดันตาโดยการใช้ยาหยอดตาหรือการยิงเลเซอร์แล้วเท่านั้น

คนไข้ต้อหินส่วนใหญ่ที่ติดตามการรักษาอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ จะยังสามารถอ่านหนังสือและมองเห็นได้ดีไปจนตลอดชีวิต คนไข้ส่วนมากที่ตาบอดจากต้อหินคือ คนไข้ที่มาพบแพทย์ช้าเกินไป หรือไม่ค่อยปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์

เมื่อคุณทราบว่าคุณเป็นต้อหิน สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คุณต้องทำ เพื่อรักษาการมองเห็นของคุณเอาไว้ให้ได้มากที่สุดและยาวนานที่สุดก็คือ การติดตามการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอต้อหินอย่างต่อเนื่อง และไม่หยุดใช้ยาเอง

ไม่จำเป็น คนที่เป็นต้อหินบางคนมีความดันตาอยู่ในระดับปกติ แต่คุณหมออาจตรวจพบว่ามีการทำลายของเส้นประสาทตา และเมื่อตรวจด้วยเครื่องวัดลานสายตา จะพบว่าคนไข้มีจุดบอด (blind spots)เกิดขึ้นในลานสายตา

ยาหยอดตารักษาต้อหินบางชนิดอาจจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ดังต่อไปนี้:

  • คันหรือระคายเคืองตา
  • ตาแดงหรือเปลือกตาแดง
  • อัตราการเต้นของหัวใจเปลี่ยนไป
  • รู้สึกอ่อนเพลีย
  • อาการหอบหืดกำเริบ
  • ปากแห้ง
  • ตามัว
  • ขนตาดกและยาวกว่าปกติ

คนไข้ควรจะรีบปรึกษาจักษุแพทย์ หากรู้สึกว่ามีผลข้างเคียงจากการใช้ยา

ในปัจจุบันมีความพยายามที่จะหาวิธีการอื่นๆในการรักษาต้อหินนอกเหนือจากการรักษาโดยการลดความดันตา การรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้เรียกกันโดยรวมว่า neuroprotection ซึ่งหมายถึงการปกป้องเส้นประสาทตาไม่ให้ถูกทำลายโดยต้อหิน แต่ผลที่ได้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจมากนักส่วนการรักษาทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมุนไพร อาหารเสริมหรือวิตามินนั้น ไม่เคยมีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่ามีประโยชน์ใดๆในการรักษาต้อหิน หลายคนอาจจะคิดว่าก็ลองดูไม่มีอะไรเสียหาย แต่การเสียเวลาไปกับรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ อาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการที่จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้